BabyCome: บีบีซี พาเปิดบ้านอุ้มบุญในจอร์เจีย ที่หญิงไทยเผยเป็นสถานที่ลวงรีดไข่
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
- Author, นงนภัส พัฒน์แช่ม และ นีโน โชเนีย
- Role,
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยเรื่องราวของหญิงไทยที่สมัครใจไปเป็นแม่อุ้มบุญในประเทศจอร์เจีย แต่สุดท้ายกลับถูกลวงไปขายไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วโดยกลุ่มนักธุรกิจจีน
มูลนิธิฯ ได้รับการร้องขอจากหญิงไทยคนหนึ่งที่จ่ายเงินไถ่ตัวเองกลับมา ให้ช่วยเพื่อนของเธอที่ยังอยู่ในจอร์เจียอีก 3 คน จนกระทั่งทางมูลนิธิฯ ประสานไปยังอินเตอร์โพลไทย ให้ขอความร่วมมือไปยังตำรวจจอร์เจียช่วยเหลือทั้ง 3 คนออกมาได้ จนกระทั่งได้กลับไทยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา
ทว่ายังมีผู้หญิงอีกร่วมร้อยคน ซึ่งส่วนมากเป็นคนไทย ที่ยังอยู่กับบริษัทดังกล่าวในจอร์เจีย
บีบีซีพบว่ากลุ่มหญิงไทยดังกล่าว เข้าไปทำงานภายใต้การดูแลของบริษัทที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน โดยจดทะเบียนเป็นโรงแรมและบริษัทดูแลเด็กในชื่อ "BabyCome" ในกรุงทบิลิซี (Tbilisi) เมืองหลวงของจอร์เจีย
บีบีซีพูดคุยกับหญิงไทยคนหนึ่งที่ยังอยู่ในบ้านพักของบริษัทดังกล่าว ว่าสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเช่นไร รวมถึง 4 หญิงไทยที่กลับมาประเทศไทยแล้ว ว่าพบเจออะไรบ้างที่นั่น บีบีซีรวบรวมคำตอบของทุกฝ่ายไว้ในรายงานชิ้นนี้
เปิดบ้าน BabyCome บริษัทอุ้มบุญของชาวจีนในจอร์เจีย
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
บีบีซีตั้งต้นสำรวจจากพิกัดโรงแรมที่หญิงไทยระบุว่า เป็นสถานที่รับรองจุดแรกเมื่อพวกเธอไปถึงกรุงทบิลิซี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากอาสนวิหารตรีเอกภาพอันศักดิ์สิทธิ์แห่งทบิลีซี (Holy Trinity Catherdral of Tbilisi)
จนกระทั่งเราได้พบกับนายโจ ชายชาวจีนที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของบริษัท BabyCome ซึ่งทำธุรกิจอุ้มบุญในจอร์เจีย เขายอมรับว่าเหตุการณ์ที่ตำรวจจอร์เจียเข้ามาพาหญิงไทย 3 รายออกไป เกิดขึ้นในบริษัทของเขาจริง
บีบีซีตรวจสอบพบว่า บริษัทที่จดทะเบียนในชื่อ BabyCome ซึ่งประกอบกิจการในกรุงทบิลิซีของจอร์เจีย มี 2 บริษัท โดยบริษัทหนึ่งจดทะเบียนเป็นโรงแรม และอีกบริษัทจดทะเบียนเป็นศูนย์ดูแลเด็ก โดยมีนางหลี่ จวน ชาวจีน จดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัท
โจ เล่าว่า นางหลี่ หรืออีกชื่อคือ "ซินดี" คือภรรยาเขาเอง ซึ่งเขาใช้ชื่อของเธอในการจดทะเบียนเปิดบริษัทที่ตัวเองทำร่วมกับครอบครัว เขายืนยันว่า บริษัทของเขาทำธุรกิจแม่อุ้มบุญอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ล่อลวงหญิงไทยมารีดไข่ไปขาย
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
ที่มาของภาพ, Ministry of Justice of Georgia
โจ เปิดเผยอีกว่า ก่อนจะเกิดเรื่อง บริษัทของเขาให้เงินหญิงไทย 500 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ก่อนบินมาจอร์เจีย และเมื่อเดินทางมาถึงก็ให้เงินอีก 20,000 บาทไทย แต่เมื่อ 3 หญิงไทยรับเงินไปแล้ว ก็อยากจะกลับไทย ไม่ยอมเป็นแม่อุ้มบุญต่อ โดยที่ไม่เคยเข้ามาบอกกับเขาตรง ๆ แต่โทรเรียกตำรวจจอร์เจียให้เข้ามาช่วยพาออกไป
"หญิง 3 คนนั้น พอพวกเธอได้เงินไป เธอก็ไปคุยกับนายหน้าคนไทย บอกว่าไม่อยากทำงานแล้ว ฉันอยากกลับบ้าน โดยที่ไม่มีเหตุผลอะไร" โจ เปิดเผย เขาบอกว่า ขณะนั้นเขาจัดหาทั้งอาหาร ที่พัก และซิมการ์ด ให้กับ 3 หญิงไทยไปแล้ว
"ตอนพวกเธอจะกลับ พวกเธอไม่เคยมาบอกผมตรง ๆ... พวกเธอวิดีโอคอลหาตำรวจจอร์เจีย บอกว่าให้ช่วยพาออกไปที" เขาระบุ
อย่างไรก็ตาม หญิงไทยสามคนแย้งว่า แม้พวกเธอได้รับเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนบินมาจอร์เจียจริง แต่เมื่อถึงจอร์เจียกลับถูกขอเรียกเงินคืน 200 ดอลลาร์สหรัฐ และนอกจากเงินจำนวนนี้แล้วก็ไม่เคยได้เงินเพิ่มเติมใด ๆ จากบริษัทอีก
เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในจอร์เจีย ก่อนตำรวจบุกช่วย 3 หญิงไทย
น.ส.นา (นามสมมุติ) เป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้ามาแจ้งเรื่องกับมูลนิธิปวีณาฯ จนกระทั่งตำรวจไทยประสานไปยังตำรวจจอร์เจีย และช่วยเหลือหญิงไทยอีก 3 คนออกมาได้
เธอเล่าย้อนไปว่าตนสมัครใจจะไปเป็นแม่อุ้มบุญในจอร์เจีย หลังติดต่อผ่านนายหน้าคนไทย ซึ่งระบุว่านี่เป็นงานถูกกฎหมายในจอร์เจีย นายหน้าบอกเธอว่าเมื่อตั้งครรภ์จนคลอดลูกให้กับคู่รักชาวต่างชาติสำเร็จ จะได้เงินรวม 500,000 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงกรุงทบิลิซี เธอกลับถูกกดดันให้ขายไข่ของตัวเอง
"จังหวะที่เราเข้าไป เราไปเจอคนที่เขากลับจากโรงพยาบาลมา ตอนแรกก็เหมือนร้องไห้เข้ามา เราก็ได้แต่แอบมองเขา มีการแอบฟังที่เขาคุยกันในกลุ่มเพื่อนเขา เราก็เริ่มใจไม่ดี เลยตัดสินใจเข้าไปถามเขาตรง ๆ เขาก็เลยเล่าให้เราฟัง" น.ส.นา เปิดเผยกับบีบีซีไทย
"เหมือนเขาเล่าให้เราฟังไม่หมด แต่ว่าอาศัยสัมผัสแล้วก็ถามคนนั้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ เริ่มรู้ว่าบางคนที่มาคือก็ไม่ได้อุ้มท้อง แต่ว่าจะถูกให้ขายไข่ของตัวเอง" เธอระบุ
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
น.ส.นา บอกว่าเธออยู่ที่นั้นเพียง 4 วัน โดยก่อนออกเดินทางจากประเทศไทย นายหน้าชาวไทยได้บอกเธอว่าจะมีการทำสัญญาที่นั่น และจะได้เจอกับพ่อแม่ของเด็ก แต่เมื่อไปถึงตั้งแต่วันแรก เธอเล่าว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จึงมีปากเสียงกับบอสชาวจีน เพราะเธอจะขอกลับ แต่เขาขอให้เธอจ่ายเงินชดเชย 50,000 บาท
"วันแรกก็บอกเขาเลยว่าเราจะกลับ นับตั้งแต่วันแรกที่เรารับรู้ข้อมูลคนที่นั่น ก็แจ้งความประสงค์เขาเลยว่าจะกลับ แต่เหมือนเขาก็โวยวายว่าจะไม่ให้กลับ" น.ส.นา ย้อนเล่า
"จริง ๆ ก็ฟังไม่ค่อยออก แต่เขาให้คุยกับคนจีนที่พูดไทยได้ ประมาณว่าเขามีค่าเสียหาย จะไม่ให้กลับ เราก็เลยสอบถามไปว่า ถ้าเราประสงค์ที่จะกลับ เขาจะเรียกยังไง เขาก็บอกว่าประมาณ 50,000 บาท ถ้าเราจะกลับ เราก็บอกไปว่า ถ้าเรามีเงิน 50,000 บาท เราคงไม่มา"
"เราก็เงียบไป เขาก็ไม่ยอม เข้ามาจะขอมือถือ ไม่ให้เราใช้มือถือ เราก็พูดกับเขาว่า ถ้ายึด เราไม่ยอม ถ้าจะยึดจริง ๆ เราจะกระโดดจากชั้นสองลงไป" น.ส.นา เล่าว่าคำขู่ดังกล่าวทำให้เธอยังมีโทรศัพท์ติดตัว และสามารถเก็บตัวอยู่แต่ในห้องพักของตนเองตลอด 4 วันที่อยู่ในจอร์เจียได้ จนกระทั่งครอบครัวสามารถหาเงินมาจ่ายบอสชาวจีนเพื่อไถ่ตัวได้ในที่สุด
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
น.ส.นา บอกว่าในวันที่เธอพร้อมจ่าย เธอถูกเรียกเงินเพิ่มเป็น 70,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เธออยู่เกินเวลา ก่อนที่เธอจะกลับไทยโดยซื้อตั๋วกลับเอง และมาร้องเรียนกับมูลนิธิปวีณาฯ ขอให้ช่วยเหลือหญิงไทยอีก 3 คน ที่ไม่มีเงินไถ่ตัวเองกลับ
เธอมาร้องเรียนกับมูลนิธิปวีณาฯ ในวันที่ 17 ก.ย. 67 ก่อนที่มูลนิธิฯ จะประสานข้อมูล ติดต่อสามีของหญิงไทยทั้ง 3 คน ให้เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อพามาร้องเรียนกับตำรวจกองการต่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพลไทย ซึ่งประสานขอความช่วยเหลือไปยังตำรวจจอร์เจีย และเข้าไปช่วยหญิงไทย 3 คน ออกมาจากบ้านพักดังกล่าวได้เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 67
ทั้ง 3 คนถูกพาตัวไปไว้ที่เซฟเฮาส์ของตำรวจจอร์เจียเพื่อสอบปากคำและรอประสานพาสปอร์ตคืนจากนายจ้างชาวจีน ซึ่งใช้เวลากว่า 2 เดือน โดยพวกเธอเพิ่งเดินทางกลับถึงไทยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 68
อุ้มบุญหรือรีดไข่ ?
น.ส.เบล (นามสมมุติ) หนึ่งในสามหญิงไทยซึ่งอยู่ที่บ้านพักดังกล่าวของบริษัทฯ เป็นเวลาราว 1 เดือน ก่อนที่ตำรวจจอร์เจียจะเข้าช่วยเหลือ เล่าว่าเธอออกเดินทางจากไทยไปจอร์เจียพร้อม น.ส.นา โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
แตกต่างจาก นา ที่รู้ตั้งแต่วันแรกว่ามีหญิงไทยถูกรีดไข่ เธอเล่าว่าเธอถูกพาไปโรงพยาบาล ตรวจร่างกาย โดยที่ไม่ทราบผลตรวจร่างกายของตนเอง ไม่ทราบว่ายาที่หมอสั่งให้คืออะไร แต่เธอต้องกินและถ่ายวีดีโอให้บอสชาวจีนดูตามคำสั่ง เธอเข้าใจว่าทั้งหมดคือกระบวนการเตรียมความพร้อมในการเป็นแม่อุ้มบุญ จนกระทั่งได้คุยกับหญิงไทยที่อยู่มานานกว่า ที่บอกกับเธอว่านี่คือกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับการขายไข่
"เราถามคนดูแล เขาก็ไม่บอกอะไร ทุกคนคือไม่มีใครรู้อะไรเลยค่ะ แม้แต่กระทั่งเขาจะพาไป ส่วนมากไม่รู้เลย เขาจะแจ้งแค่รายชื่อให้เราไป" เธอกล่าว
"คนจีนไม่เคยบอกจริง ๆ ค่ะ เขาจะแค่แชทในวีแชท (WeChat) แค่ว่า เราชื่อนี้ รูปหน้าพาสปอร์ตนี้ ส่งรถไปรับ บอกแค่นั้น แล้วก็ไปตามที่เขาสั่ง แล้วพอกลับเขาก็แค่ขับรถกลับมาส่ง... แม้กระทั่งชื่อยา ถามเขาเขาก็ไม่บอก ผลตรวจเป็นยังไงเราก็ไม่เคยรู้"
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
เบล เล่าว่า ภายหลังจากเธอทราบว่านี่คือกระบวนการเตรียมขายไข่ เธอได้ไปพูดคุยกับคนดูแลชาวไทยและบอสชาวจีน เพื่อจะขอกลับไทย
"ไหนบอกว่าเป็นงานอุ้มบุญ ไหนบอกว่ามาแล้วมีการเซ็นสัญญา" เบล เล่าเหตุการณ์ที่เธอถกเถียงกับบอสและคนดูแล "เขาบอกว่า ถ้าอยากกลับก็หาเงินมาไถ่ 60,000 – 70,000 บาท ถึงจะได้กลับบ้าน ไม่ก็ขายไข่ใช้หนี้ 3 ครั้ง"
เธอบอกว่าเธอปฏิเสธข้อเสนอไปแล้ว แต่ก็ยังถูกพาไปโรงพยาบาลและสั่งให้กินยาอยู่ ซึ่งก่อนวันที่ตำรวจจะเข้าไปช่วยเพียง 1 วัน เธอเพิ่งถูกพาไปโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 3 และถูกฉีดยา 3 เข็มเข้าหน้าท้อง
ทั้งนี้ นายโจอ้างว่า เหตุที่หญิงไทย 3 รายเรียกตำรวจจอร์เจียให้เข้ามาช่วย เพราะพวกเธอได้เงินงวดแรกไปแล้ว และอยากกลับไทยทันทีโดยไม่ต้องทำการอุ้มบุญจริง
บีบีซีไทย สอบถามไปยังนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เธอยืนยันว่าจากคำบอกเล่าของหญิงไทยทั้ง 4 คนที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ในตอนนี้ พวกเธอได้รับเงินทั้งหมดเพียง 300 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐที่นายหน้าในไทยให้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง แต่เรียกคืนไป 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อพวกเธอไปถึงจอร์เจีย โดยนอกจากเงินส่วนนี้ พวกเธอระบุว่าไม่ได้รับเงินเพิ่มเติมใด ๆ
ตัวแทนบริษัท BabyCome ปฏิเสธคำกล่าวอ้างหญิงไทย
คำบอกเล่าของทั้งสองฝ่ายที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี มีหลายประเด็นที่ขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องเงิน เอกสารสัญญา และพาสปอร์ต
บีบีซีไทยได้พูดคุยกับนายอาเชอร์ ผู้ซึ่งหญิงไทยที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้วระบุว่าเขาเป็นเจ้าของบริษัทอีกคนหนึ่ง แต่เขาแนะนำตัวกับบีบีซีไทยว่าตนรับผิดชอบดูแลเฉพาะเรื่องเอกสารตามกฎหมายเท่านั้น เขาปฏิเสธที่จะให้ชื่อนามสกุลจริงกับเรา พร้อมระบุว่าหญิงไทยทุกคนรู้จักเขาในชื่อนี้
ที่มาของภาพ, Handout
เขาอธิบายการทำงานของบริษัท BabyCome ว่า บริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดหาหญิงไทยมาเอง แต่จะมีนายหน้าชาวไทย 2-3 เจ้า ที่เป็นคนจัดหาและพาหญิงเหล่านี้มาจอร์เจีย
เขาเล่าว่า เมื่อหญิงไทยมาถึง บริษัทก็จะส่งไปให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อนว่าพร้อมอุ้มบุญได้หรือไม่ โดยอาจให้ยามากินเพื่อปรับสภาพร่างกาย สุดท้ายหากยังไม่พร้อม ก็จะรอรอบเดือนถัดไปเพื่อไปตรวจเช็คอีกครั้ง โดยบริษัทจะรอทั้งหมด 3 รอบเดือน หากร่างกายไม่พร้อมจริง ๆ ก็จะให้กลับไทยได้โดยบริษัทจะเป็นผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้
อาเชอร์ ยืนยันว่า ข้อตกลงข้างต้นนี้มีระบุอยู่ในสัญญาที่บริษัททำกับหญิงไทย โดยสัญญาฉบับแรกจะมีการเซ็นกันในช่วงแรกที่เดินทางมาถึงจอร์เจีย และหากใครตรวจร่างกายผ่าน ก็จะมีสัญญาอีกฉบับที่ระบุรายละเอียดการแบ่งจ่ายเงินทั้งหมดให้เซ็น รวมจึงมีสัญญา 2 ฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกรับรู้กับเฉพาะระหว่างหญิงไทยกับทางบริษัท แต่ฉบับหลังบริษัทต้องส่งให้หน่วยงานทางการของจอร์เจียตามกฎหมายด้วย
ขณะที่ น.ส.นา และ น.ส.เบล ยืนยันว่าพวกเธอไม่เคยได้เซ็นเอกสารสัญญาใด ๆ ขณะอยู่ที่นั่น
เมื่อถามอาเชอร์ เขายอมรับว่าจำไม่ได้ว่าหญิงไทยกลุ่มนี้ได้เซ็นสัญญาฉบับแรกไปแล้วหรือไม่ เพราะทั้งหมดเพิ่งมาอยู่จอร์เจียได้ไม่นาน เขาระบุว่าโดยปกติต้องใช้เวลาสักพักในการทำเอกสาร
ที่มาของภาพ, Handout
อาเชอร์ ยังบอกอีกว่า สาเหตุที่เขาต้องเก็บพาสปอร์ตของทุกคนไว้ ก็เพื่อทำเอกสารและสัญญาต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเอกสารเสร็จสิ้นก็จะคืนพาสปอร์ตให้
"เราไม่ได้ยึดพาสปอร์ตพวกเธอ แต่เมื่อกลุ่มหญิงไทยมาถึง เราขอพาสปอร์ตไปแปลเพื่อทำเอกสาร เพราะการจะยึดพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชนของใครก็ตามโดยที่เขาไม่ยินยอมในจอร์เจียมันผิดกฎหมายด้วย" เขาระบุ
แต่หญิงไทยที่ยังอยู่ในบ้านพักและโอเคกับการทำงานให้กับ BabyCome จนถึงปัจจุบัน บอกกับบีบีซีอีกแบบ เธอยอมรับว่ามีการยึดพาสปอร์ตไปจริง แต่เธอเข้าใจว่าเป็นเพราะบอสกลัวหญิงไทยได้เงินไปแล้วหนี ไม่อุ้มบุญต่อจนสำเร็จ
"ที่บริษัทเก็บพาสปอร์ตไปก็จริง เพราะเวลาเรามาถึงเราได้เงินคนละ 30,000 บาท" น.ส.ฝัน (นามสมมุติ) บอกกับบีบีซี เธอเล่าว่าอยู่ที่นี่มา 5 เดือนแล้ว และตรวจร่างกายไม่ผ่านซักที เธอเล่าว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่ บริษัทดูแลเธอเป็นอย่างดี และเมื่อขอกลับไทย บริษัทก็ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ รวมถึงอ้างว่าไม่มีการบังคับให้ขายไข่ตามที่ 4 หญิงไทยกล่าวอ้าง
"พวกเขาต้องเก็บพาสปอร์ตเราไป เพราะบางคนมาที่นี่ ได้เงินไปแล้วก็หนีไป ไม่ทำงาน ถ้าบริษัทคืนพาสปอร์ตให้ ทุกคนที่นี่มีหลายแบบ คนที่ดีก็จะทำงานต่อ แต่บางคนก็อาจจะเอาพาสปอร์ตไปแล้วหนีไปเลย" เธอกล่าว
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
ที่มาของภาพ, Nino Shonia/BBC
ขณะที่ นา และ เบล ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของมูลนิธิปวีณาฯ บอกว่า การถูกยึดพาสปอร์ตเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หญิงไทยที่นั่นหนีไปไหนไม่ได้ ส่วนหนึ่งจึงยอมทำตามข้อเสนอให้ขายไข่ของตัวเอง
ด้านประธานมูลนิธิปวีณาฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิเพิ่งซื้อตั๋วเครื่องบินไปให้หญิงไทยอีก 1 คน ซึ่งบินกลับถึงไทยเมื่อ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังหนีออกมาจากบ้านพักดังกล่าว
นางปวีณา เล่าว่า เท่าที่เธอทราบ มีหญิงไทยอีก 3 คนที่หนีออกมาจากบ้านพัก หลังจากที่เกิดเรื่องและบอสชาวจีนถูกตำรวจสั่งให้คืนพาสปอร์ตให้กับทุกคน โดย 2 คนซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไทยมาเอง ส่วนอีกคนร้องขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือ ตอนนี้มูลนิธิดูแลหญิงไทยทั้งหมด 5 คน และทราบว่ายังมีหญิงไทยที่อยากหนีออกมาอีกแต่ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่ากลับมาแล้วจะถูกตำรวจไทยดำเนินคดี
มูลนิธิปวีณาฯ ยืนยันว่า หญิงไทยทั้งหมดที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ พูดตรงกันว่า พวกเธอเจอข้อเสนอให้ขายไข่ของตัวเองเมื่อตรวจร่างกายแล้วไม่พร้อมจะเป็นแม่อุ้มบุญ โดยบางคนเข้าสู่กระบวนการของการกินยาและฉีดยากระตุ้นไข่แล้ว
ขณะที่ อาเชอร์ ยอมรับว่าหญิงไทยที่มาเป็นแม่อุ้มบุญให้กับบริษัท มีบางคนที่ตกลงจะขายไข่ เพราะต้องการหารายได้เมื่อตรวจร่างกายเป็นแม่อุ้มบุญไม่ผ่าน แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
"เท่าที่ผมจำได้ เรามีหญิงไทยบางคนที่บริจาคไข่ แต่มีแค่ 5-6 คนเท่านั้น ซึ่งเต็มใจทำ และบริษัทก็จ่ายค่าตอบแทนให้" เขาเปิดเผย พร้อมบอกว่าในการรับบริจาคไข่ เขาไม่นิยมใช้หญิงไทยด้วยซ้ำ เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ใช่พิมพ์นิยม ส่วนใหญ่คนที่เข้าสู่กระบวนการนี้จึงจะเป็นหญิงชาวจอร์เจียมากกว่า
"ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำว่าฟาร์มไข่ (Egg Farm) หมายถึงอะไร ผมไม่รู้ว่าใครจะเอาไข่เยอะขนาดนั้นไปทำอะไร แค่ 2-3 ใบก็น่าจะพอแล้ว ผมนึกไม่ออกจริง ๆ" อาเชอร์ ระบุ
"ในรายงานข่าว ผู้หญิง 3 คนบอกว่าเธอโทรหาตำรวจตั้งแต่เดือน ก.ย. ตอนนี้ผ่านมาจนถึง ก.พ. แล้ว ถ้าผมทำฟาร์มไข่มนุษย์หรือค้ามนุษย์จริง ๆ คุณคิดว่าตำรวจจอร์เจียจะอยู่เฉยเหรอ พวกเขาต้องหยุดผมหรือมาจับผมไปแล้ว" เขากล่าวเสริม
การสอบสวนของทางการจอร์เจีย
กระทรวงกิจการภายในของจอร์เจีย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีนี้ภายหลังจากที่เป็นข่าวในไทย ระบุว่า ได้เริ่มสืบสวนตามคำร้องขอของตำรวจอินเตอร์โพลจากกรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่กองตำรวจอาชญากรรมกลาง (Central Criminal Police Department) ของกระทรวง ได้เริ่มการสืบสวนภายใต้วรรค 3 ของมาตรา 143 ของประมวลกฎหมายอาญาของจอร์เจีย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในกระบวนการสืบสวน เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น รวมถึงตรวจสอบและเข้าค้นสถานที่ต่าง ๆ โดยมีการสอบปากคำชาวต่างชาติราว 70 คน แต่ไม่มีใครที่ร้องเรียนในเรื่องนี้ นอกจากหญิงไทย 3 คน
โดยในการสอบปากคำหญิงไทยทั้ง 3 คน พวกเธอให้การว่าไม่ต้องการจะเป็นแม่อุ้มบุญ หรืออยู่ในบ้านพักต่อแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปพาตัวพวกเธอออกมายังศูนย์พักพิงสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ในวันเดียวกัน และหลังจากผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พวกเธอจึงเดินทางออกจากจอร์เจีย
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ตำรวจได้สอบปากคำชาวต่างชาติ 4 คน ที่เป็นคนพาบรรดาหญิงไทยมาเป็นแม่อุ้มบุญในจอร์เจีย พร้อมกับยึดโทรศัพท์ของพวกเขาไปตรวจสอบข้อมูล พร้อมระบุว่า ตำรวจอินเตอร์โพลไทยยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงกิจการภายในของจอร์เจีย สำหรับการดำเนินการที่รวดเร็วหลังจากได้รับข้อมูล รวมถึงที่มีการสืบสวนเรื่องนี้ต่อ ซึ่งปัจจุบันกระบวนการสืบสวนยังไม่เสร็จสิ้น
บีบีซี สอบถามความคืบหน้าเพิ่มเติมไปยังตำรวจจอร์เจีย แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม
ที่มาของภาพ, Handout
ด้าน พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรืออินเตอร์โพลไทย ไม่ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจอร์เจีย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เขาระบุว่าอินเตอร์โพลไทยได้รับการประสานจากมูลนิธิปวีณาฯ ให้ช่วยหญิงไทย 3 ราย จึงประสานตำรวจจอร์เจียซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการพาตัวทั้ง 3 คนออกมา
ผู้บังคับการอินเตอร์โพลไทย ระบุอีกว่า ตนเองได้สอบถามทางตำรวจจอร์เจียถึงความคืบหน้าในการขยายผลไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลกลับมา ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับตำรวจจอร์เจีย ทางไทยได้แต่ขอความร่วมมือไปในฐานะที่เป็นสมาชิกตำรวจสากลเหมือนกัน
ขณะที่ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อ 7 ก.พ. หลังมูลนิธิปวีณาฯ พาหญิงไทยที่กลับมาเข้าไปให้ข้อมูล โดยระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการเก็บไข่ตามคำบอกเล่าของหญิงไทยนั้น เพื่อจะเอาไปทำอะไรต่อ ซึ่งตำรวจไทยอยู่ในระหว่างประสานกับตำรวจจอร์เจียเพื่อขอข้อมูลต่าง ๆ โดยได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ขยายผลทางคดี ซึ่งต้องตรวจสอบกลุ่มขบวนการทั้งหมด ทั้งคนไทยและจีน ว่าการดำเนินการต่าง ๆ จากประเทศไทยเข้าข่ายความผิดกฎหมายใดหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอว่าจะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่
จเรตำรวจแห่งชาติ ยังยืนยันกรณีหญิงไทยที่มีความประสงค์จะกลับไทย ตำรวจจะไม่ดำเนินคดี เพียงแต่อยากให้เข้ามาให้ปากคำเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินการเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้อง