xs
xsm
sm
md
lg

EV Car มาแน่! เปิดอาณาจักรและวิสัยทัศน์ Spyder Auto Import เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Tesla Model 3, Tesla Model S, Tesla Model X, Porsche Taycan, Mini E, Honda E รถ EV (Electric Vehicle) หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากหลายแบรนด์ระดับโลก จอดเรียงราย อวดโฉมผู้มาเยือนโชว์รูมแห่งนี้ Spyder Auto Import ด้วยยอดขายครึ่งหนึ่งของโชว์รูมเป็น EV Car อีกทั้งเป็นโชว์รูมที่ได้รับการกล่าวขานว่ามียอดจำหน่ายรถอีวีคาร์สูงที่สุดในประเทศ ด้วยยอดขายอีวีคาร์ในปีที่แล้วเกือบ 100 คัน และในปีนี้ เพียงไตรมาสที่ 2 จำหน่ายไปแล้วไม่น้อยกว่า 70 คัน



ผู้จัดการออนไลน์ จึงถือโอกาสมาเยือน เพื่อสัมภาษณ์พิเศษ จักรกฤติ สายสมบูรณ์ หนึ่งในทีมกรรมการบริหารแห่ง Spyder Auto Import ถึงความเป็นมาก่อนจะกำเนิดโชว์รูมที่มีรถยนต์อีวีคาร์มากที่สุดในประเทศ รวมถึงวิสัยทัศน์ มุมมองที่มีต่อยนตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กระแสอีวีคาร์ทั้งในไทยและทั่วโลก รวมทั้งข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประโยชน์และคุณค่าโดยรวมต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อการพัฒนารถยนต์อีวีคาร์สัญชาติไทย

>>> ก่อนจะเป็น Spyder Auto Import

เมื่อขอให้ช่วยช่วยเล่าความเป็นมาของ Spyder Auto Import จักรกฤติ กล่าวว่า

“จุดเริ่มต้นของผมก่อนจะมาทำโชว์รูมรถยนต์นำเข้า หรือสไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ต มีที่มาที่ไปคือ ต่อยอดมาจากธุรกิจเดิม ธุรกิจตั้งต้นของผม ธุรกิจแรกเริ่มเลย แต่ก็เกี่ยวข้องกับรถยนต์นี่แหละ แต่เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ชุดแต่งรถยนต์ รวมถึง อะไหล่รถ แรก ๆ ก็เริ่มจากเล็ก ๆ เมื่อสักประมาณ 13-14 ปีที่แล้ว เมื่อผมทำ ผมก็เริ่มสะสมลูกค้า ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรก คือลูกค้าที่ออกรถจาก gray market มา ออกรถจากตัวแทนจำหน่ายมา ใช้รถยุโรปเยอะ Mercedes Benz, Audi, BMW หรือรถซูเปอร์คาร์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อทำธุรกิจนั้นอยู่ 2-3 ปี ฐานลูกค้าตรงนี้ก็เริ่มที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็มีคอนเนคชั่น ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วผมก็มองเห็นการต่อยอดไปยังธุรกิจที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงเรื่องของไซส์ของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นคือ การนำเข้ารถยนต์นั่นเอง ซึ่งฐานของลูกค้าผมคือกลุ่มลูกค้าเดียวกันนั่นแหละ ที่จะมาซื้อรถยนต์นำเข้า ผมก็เลยพาตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมที่มันใหญ่ขึ้น เม็ดเงินที่มันใหญ่ขึ้น เรียกได้ว่าอยู่ใน Layer ที่สูงขึ้น”

จักรกฤติระบุถึงความเป็นมาก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกทำควบคู่กันไป ระหว่างนำเข้ารถยนต์โดยนำเข้าทั้งคัน ในขณะที่อุปกรณ์ของแต่งรถก็ทำควบคู่กันไปด้วย ทำในลักษณะนั้นอยู่เกือบปี ก็มองเห็นโอกาสที่จะไปต่อ ทุกอย่างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากช่วงนั้นเศรษฐกิจค่อนข้างดี กระแสของรถยนต์นำเข้าค่อนข้างดี คนอยากได้มาก โดยเฉพาะรถยุโรป ทำให้มาเก็ตไซส์ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมจึงตัดสินใจเปิดโชว์รูม เป็นโชว์รูมมาตรฐาน มีแกลเลอรี่ โชว์รถที่มีความเป็นมาตรฐานและพรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งที่ตั้งก็อยู่ที่ถนนบางนานั่นเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของสไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ต ในปี 2010 จริง ๆ สถานที่ห่างจากโชว์รูมปัจจุบันไป 200-300 เมตร จากนั้นปี 2014 ก็เป็นการยกระดับเราไปอีกขั้น เรามีฐานลูกค้ามากขึ้น ลูกค้านำรถเข้ามาบำรุงรักษามีจำนวนมากขึ้น ทำให้โลเคชั่นเดิมบนถนนบางนาเล็กไป เราก็เลยตัดสินใจย้ายมาโลเคชั่นปัจจุบัน ห่างกันสองซอยเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้มาคือ เรามีพื้นที่สำหรับการจอดรถมากขึ้น รถที่เป็นโมเดลขาย ปัจจุบัน จอดรถได้ 30 คัน ศูนย์เซอร์วิสก็ใหญ่ขึ้นสามเท่า โลเคชั่นใหม่ของเรา อยู่บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ นี่คือที่มาที่ไป กระทั่งดำเนินมาถึงปัจจุบัน เราก็มีอายุครบ 10 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 11


>>> แรงบันดาลใจนำเข้ารถ EV (Electric Vehicle)

เมื่อถามว่าแรงบันดาลใจหรือปัจจัยอะไร ที่ทำให้นำเข้ารถ EV (Electric Vehicle) หรือรถไฟฟ้า

จักรกฤติตอบว่า แรงบันดาลใจจริง ๆ มีอยู่ สองประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก เมื่อเป็นผู้นำเข้า ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ โมเดลใหม่ ๆ เข้ามาให้กับตลาด ไม่ว่ารถรุ่นไหนออกใหม่ แบรนด์ไหนออกใหม่ เป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ ทันสมัย อยู่ในกระแสของตลาด นี่เป็นหน้าที่ของสไปเดอร์ ที่ต้องนำเข้าโมเดลเหล่านี้เข้ามา เพื่อความสดใหม่เสมอ เพื่อผู้บริโภค เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจแรก

“ส่วนแรงบันดาลใจที่สอง ตัวผมและผู้บริหารท่านอื่น มี Mindset ที่ต้องการจะจับเทรนด์ในอนาคตอยู่แล้ว มีเรื่องอื่น ๆ มากมาย ที่เราเห็นว่า Economy ยุคเก่ากำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทุก ๆ Sector อย่างอาหาร ก็มีแกร็บ, ไลน์แมน, ฟู้ด เดลิเวอรี่เข้ามา รวมถึงเรื่องแท็กซี่ ก็มี แกร็บ กับ อูเบอร์เข้ามา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ทำให้ผู้บริหารของสไปเดอร์ มีความตระหนัก ในเรื่องนี้อยู่ตลอดว่าเราควรพยายามขยับให้ทันโลกอยู่เสมอ ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับสิ่งที่เราเคยชิน หรือพฤติกรรมเดิม ๆ วิธีทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เราอาจเป็นผู้ตามคนอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว

เมื่อเรามีมายด์เซ็ตอย่างนี้แล้ว กับตลาดที่เราทำอยู่ มี EV Car เกิดขึ้นมา มันเป็นสิ่ง ที่เราจะต้องลงไปศึกษาตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มีข่าวเกี่ยวกับ EV Car ขึ้นมาเลย ว่าจะมีการทดแทนรถยนต์พลังงานสันดาปแบบเดิมแล้วนะ ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า อันนี้คือ เป็นเรื่องที่เกิดเป็นข่าว แบรนด์ต่าง ๆ เขาเริ่มค้นคว้ากัน นี่ตั้งแต่สิบปีที่แล้ว แต่ตั้งแต่ก่อนจะมีเทสล่าเกิดขึ้นมาเลย มันมีการรีเสิร์ชอยู่ หลายปีแล้ว แล้วเราก็จับตาเรื่องพวกนี้มาโดยตลอดว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป รถยนต์ไฟฟ้ามันเป็น development ที่แค่อยู่ในอากาศหรือเปล่า หรือมันเกิดขึ้นจริง ๆ เรื่องพวกนี้เราตามอยู่ตลอด กระทั่งปี 2013 เราได้เห็นว่าเทสล่าวางจำหน่ายในอเมริกาจริง ๆ ทางยักษ์ใหญ่ของจีนก็เริ่มที่จะรีเสิร์ช มองหาโอกาสในตลาดนี้ นำเทคโนโลยี พยายามที่จะเอามาใช้กับตัวรถยนต์ ให้เกิดอีวีคาร์ ซึ่งจีน ต้องยอมรับว่าเก่งเทคโนโลยีอยู่แล้ว

“เมื่อเทสล่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในอเมริกา เริ่มที่จะแสดงศักยภาพให้โลกรู้ มียอดขาย เราก็เริ่มตัดสินใจเลยว่า เราจะนำเข้าเทสล่าที่เป็นรถไฟฟ้าอันดับหนึ่งตอนนั้น เข้ามาให้คนไทย อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน กลุ่ม niche กลุ่มที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มที่ชอบเทรนด์ของอนาคต”



จักรกฤติระบุถึงวิสัยทัศน์ในการนำเข้ารถยนต์อีวีคาร์ ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า นำเทสล่าคันแรก นำเข้ามาในปี 2016 เป็นเทสล่าโมเดล S เป็นรุ่นแรกของเทสล่าที่ออกมา

“ในช่วงแรกที่นำเข้ามาเราไม่ได้นำเข้ามาเยอะ เอาเข้ามาทดลองตลาด เพราะประชาชนไทยตอนนั้น ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเรียกว่าเป็นศูนย์เลย คือมีแค่ไม่กี่คน ที่อาจตามข่าวเมืองนอก คนที่เคยทำงานเมืองนอก หรือนักเรียนที่ตามข่าวเทสล่า เขาจะเห็น เทสล่า อีวีคาร์มาก่อน

“ดังนั้น ปี 2016 นำเข้ามาน้อยมาก 3-4 คัน แต่ก็ขายได้หมด เราพยายามเอาเข้ามาในจำนวนที่ไม่ได้โอเวอร์มาร์เก็ตไซส์ คือตอนนั้นมาร์เก็ตไซส์น้อยมาก แต่ด้วยความที่เราจับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมมาโดยตลอด ซึ่งเขาค่อนข้างเกาะทันเทคโนโลยีมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ ถ้าเห็นว่าเทสล่าเข้ามา เขาจะสนใจทันที จะมาลองดูรถคันจริง ลองนั่ง ลูกค้าบางท่าน กำลังซื้อสูงอยู่แล้ว เขาอาจรู้สึกว่าการได้ซื้อเทสล่าคันแรกเป็นความภูมิใจของเขา เขาได้จับนวัตกรรมที่พลิกโฉมวงการยานยนต์ไปตลอดกาล เทสล่า โมเดลเอส ราคาตอนนั้น ยู่ที่ 7 ล้านกว่าบาท

>>> EV Car ทั่วโลกและในไทย

เมื่อถามว่ามองสถานการณ์ อีวีคาร์ทั่วโลก และในไทยอย่างไรบ้าง

จักรกฤติตอบว่า เริ่มจากทั่วโลก ตอนนี้ ต้องบอกว่าหลายๆ ประเทศในโลก ไม่ว่านอร์เวย์ อเมริกา หรือเยอรมนี ประเทศเหล่านี้ เริ่มมีการรณรงค์ ออกกฎหมาย ว่า ภายในปีนี้จะไม่ให้มีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอีกต่อไปแล้ว บางประเทศก็ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2030 บางประเทศ ก็ปี 2035 ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

นอร์เวย์เป็นประเทศแรก ที่ค่อนข้างจริงจังกว่าประเทศอื่น ๆ เดินเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ก้าวนำ ล้ำประเทศอื่น ทุกวันนี้ ไนประเทศนอร์เวย์ มีรถอีวีคาร์วิ่งอยู่เต็มไปหมด มีจำนวนเยอะมาก มีกระทั่งอีวีคาร์แบรนด์จีน ที่มีขายเฉพาะในจีน แล้วออกมาขายนอกประเทศเป็นประเทศแรก ประเทศนั้นคือนอร์เวย์ แบรนด์จีน ไปประเทศนอร์เวย์ เป็นประเทศแรก เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่านอร์เวย์อ้าแขนรับเทคโนโลยีอีวีคาร์เป็นชาติแรกในโลก เรียกว่าอ้าแขนรับแบบเต็มตัว ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มขยับตัวตาม

“จริง ๆ เทรนด์นี้เกิดมาประมาณ สองปีแล้ว ที่ รัฐบาลของแต่ละประเทศออกมาประกาศ ผู้ผลิตเองก็ตาม Mercedes Benz, Audi, BMW เขาก็ออกมาประกาศว่ารถยนต์เครื่องสันดาป จะหยุดผลิต หยุดไลน์การผลิตในปี 2030 นั่นคือเป็นปีสุดท้ายที่จะผลิตเครื่องยนต์สันดาปออกมา จากนั้น จะผลิด อีวีคาร์ 100% เลย ตอนนี้ ทุก ๆ แบรนด์ ทุ่มเงินทำรีเสิร์ชกับเดเวลลอปเมนต์ อีวีคาร์ ในเรื่องของแบตเตอรี่ ต้องการทำแบตเตอรี่ให้เหนือกว่าคู่แข่ง ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีภายในรถให้เหนือกว่าคู่แข่ง ต้องการพัฒนาความเอนกประสงค์ ความสะดวกสบาย พลัง หรือแรงม้าของรถ มีการทุ่มเงินมหาศาลมาก ในการรีเสิร์ช เดเวลอปเมนต์

“ในปีนี้ก็มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกระแสตอบรับของรัฐบาลแต่ละประเทศ กระแสตอบรับของผู้คน นวัตกรรมเทคโนโลยีตรงนี้ในปีนี้และปีที่แล้ว มีการตอบรับแรง ตอบรับดี ไม่ได้มีลักษณะต่อต้าน หรือปรับตัวไม่ได้ หรืออนุรักษ์นิยม ที่อยากใช้น้ำมันต่อไป ไม่มีกระแสเหล่านั้นเลย ทุกคนเปิดใจและอยากใช้อีวีคาร์ เป็นเรื่องของการรักษาสภาวะอากาศของโลกด้วย ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน รัฐบาลหลาบประเทศโยนนโยบายลงมา ประชาชนตอบรับ ประชาชนเห็นด้วย ประชาชนมองเห็นถึงคุณประโยชน์ตรงนี้ ในการที่จะร่วมมือกันที่จะใช้สิ่งที่จะทำให้โลกเราดีขึ้น เหล่านี้คือปฏิกิริยาเร่งทั้งหมดให้เกิดการขยายตลาดอีวีคาร์อย่างทั่วโลกในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา อีวีคาร์ ก้าวกระโดดมาก”


จักรกฤติระบุถึงภาพรวมองการใช้อีวีคาร์ทั่วโลก ก่อนจะกล่าวถึงกระแสการใช้อีวีคาร์ในไทยว่า

“มาถึงเมืองไทย ปี 2020 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ถ้าเราดูตัวเลขสถิติของคนใช้อีวีคาร์ เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากปี 2019 ส่วนปีนี้ สถิติยังไม่ออก แต่จากยอดขายของสไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ตเอง มียอดขายไม่น้อยกว่า 300-400% ยอดขายของเราทั้งหมดตอนนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นอีวีคาร์ไปแล้ว เมื่อก่อน มาร์เก็ตแชร์ 1 คัน ใน 10 คัน คืออีวีคาร์ แต่ปีนี้ 5 คัน จาก 10 คัน คือ อีวีคาร์ หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเดือนปัจจุบัน ณ วันที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่ ต้องมี 7 คันเป็น อีวีคาร์ เราจะเห็นรถมินิ ออกอีวีคาร์ออกมา ฮอนด้า ก็มี ฮอนด้า อี เป็น อีวีคาร์ ไซส์เล็ก ในจีนเองก็มีมากมายหลาบแบรนด์ ไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์”

เมื่อถามว่า มีคำกล่าวว่าสไปเดอร์ ออร์โต้ อิมพอร์ต นำเข้ารถอีวีคาร์ มากที่สุดในประเทศ จริงหรือไม่

จักรกฤติตอบว่า เรื่องจำนวน คิดว่ามีความเป็นไปได้ แต่เราไม่ได้มีการเก็บสถิติสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ปี 2017 สไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ต รุกตลาดหนักมากขึ้น นำเทสล่าโมเดลเอสเข้ามามากขึ้น กระทั่งปี 2018 เริ่มนำตัวเทสล่าโมเดล 3 เข้ามา ซึ่งเป็นเทสล่ารุ่นเล็กที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น ราคาไม่ได้ 6-7 ล้านแล้ว ราคา 3 ล้านบาท เทียบเคียงกับ BMW หรือเมอร์เซเดสเบนซ์รุ่นเล็ก คนกลุ่มนี้สามารถมาซื้อเทสล่าได้ แล้วได้รับความล้ำสมัย

“สำหรับผม รถยนต์ไฟฟ้ามันเป็นยานพาหนะที่ไม่ใช่แค่รถ แต่ในทุก ๆ ฟังก์ชั่น ทุก ๆ องค์ประกอบ เป็นความใหม่ทั้งหมด เสียงท่อไอเสียก็ไม่มี อัตราเร่งก็แรง ข้างในมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ฉลาดและล้ำมาก แก้อุปสรรค แก้อะไรที่ไม่ควรมี เทสล่าแก้ไขได้ทั้งหมดเลย ทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละ โลกอนาคต คืออีวีคาร์ไม่ได้มีแค่ไฟฟ้า แต่ทุกองค์ประกอบคือโลกอนาคตทั้งหมด”

จักรกฤติระบุก่อนเล่าว่า อีวีคาร์ ในโชว์รูมสไปเดอร์ ออร์โต้ อิมพอร์ต ตอนนี้จะเน้นไปที่เทสล่า ซึ่งมีครบทุกโมเดล ทั้งโมเดล 3 โมเดลเอ็กซ์ โมเดลเอส ถ้าเป็นรุ่นอื่นๆ ก็มีพอช ไทคาน (Taycan ) ส่วนรถมินิก็จะมีมินิอี รวมถึง ฮอนด้าอี แล้วก็จะมีมัสแตงเข้ามาในอีกสองเดือนข้างหน้า เป็นมัสแตงที่เป็น fully electric เป็น fully ev ส่วนในอนาคต ก็มีแผนที่จะนำเข้าแบรนด์ใหม่จากอเมริกา รวมถึงแบรนด์ใหม่ที่เป็นของประเทศจีนที่เป็นอีวี จะนำเข้ามาปี 2023

“ปีหน้าเราจะนำเข้าอีวีคาร์หลากหลายสายพันธ์ุมาก” จักรกฤติเน้นย้ำ


>>> ยอดขายเทสล่า เกือบ 100 คันในปีที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงยอดขาย ในปีที่ผ่านมากับปีนี้ สำหรับ อีวีคาร์ จักรกฤติกล่าวว่า

“ปีที่แล้ว เป็นก้าวกระโดดเป็น Introduction to Tesla เลย สำหรับตลาดในไทยทั้งหมด เป็นปีที่ทุกคนรู้จักและได้ยินชื่อเทสล่าจากสื่อต่าง ๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในเมืองนอก ข่าวสารถึงกันเร็วมาก คนไทยได้เห็นว่า เมืองนอกใช้เทสล่า เทสล่ามาแรง มูลค่าของเทสล่าก็แพงขึ้น แซงยานยนต์ในโลกยุคเก่าขึ้นมาเรื่อย ๆ แซงเมอร์เซเดส แซงโฟล์คสวาเกน กระทั่งล่าสุดแซงโตโยต้าไปแล้ว เป็นแบรนด์ยานยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ข่าวต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คนไทยรู้จักเทสล่าขึ้นเยอะเลย ดังนั้น ยอดขายในปีที่แล้ว ก้าวกระโดด ถ้าพูดถึงจำนวนทั้งปี น่าจะใกล้ ๆ 100 คัน ในปีที่แล้ว

ในปีนี้ 2021 ทุกสิ่งมีโมเมนตัม เกิดการบอกต่อ มีการวิ่งบนถนน คนใกล้ตัวเห็น Elon musk (อีลอน มัสก์เอง) ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว มันทำให้คนที่ไม่รู้จักอีวีคาร์ ก็มารู้จักอีวีคาร์ไปด้วย เพราะเจ้าของอีวีคาร์รวยที่สุดในโลก มูลค่าของตัวเทสล่าในตลาดหุ้นก็สูงขึ้นมาเยอะมาก ทั้งหมดนี้ ทำให้ ปี 2021 ยอดขายก็ยกระดับขึ้นไปอีก ผ่านมา 6 เดือน ยอดขายเราอยู่ที่ 70 คันได้แล้ว ก็ยกระดับขึ้นมาจากปีที่แล้ว 20-30% แล้ว”

เมื่อถามว่า ขณะนี้ อีวีคาร์ อันดับหนึ่งของโลกคือ เทสล่าใช่หรือไม่

จักรกฤติตอบว่า “ใช่ครับ แต่เทสล่าก็กำลังเผชิญกับความท้าทาย จากแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าโฟล์คสวาเกนที่ใช้เงินเยอะมาก กับการรีเสิร์ชและเดเวลลอปอีวีคาร์ ทั้งนี้ โฟล์คสวาเกน ประกอบไปด้วยAudi, Lamborghini, Porsche พวกนี้คือแบรนด์ที่อยู่ภายใต้โฟล์คสวาเกน ซึ่งโฟล์คสวาเกนไปซื้อแบรนด์พวกนี้มาหมดเลย ในช่วงทศวรรษหลังสุด ซึ่งหลายคนอาจจะทราบ คราวนี้เมื่อโฟล์คสวาเกนโยนงบไปมากขนาดนั้น แบรนด์อื่นๆ ก็จะถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมกันในแนวทางอีวี นี่คือสิ่งที่เทสล่ากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ปีต่อไปก็จะเป็นปีที่ดุเดือดมากกับการแข่งขันในตลาดในอุตสาหกรรมอีวี นี่ยังไม่นับอีวีคาร์จากแผ่นดินจีนอีก ซึ่งแบรนด์จากแผ่นดินจีนก็มีการระดมทุนกันดุเดือนมาก บางแบรนด์มีรัฐบาลแบคอัพ บางแบรนด์มีบริษัทใหญ่ ๆ เป็นกองทุน

“นอกจากนี้ ก็มี Lucid ของอเมริกา ที่เตรียมเปิดตัวในปีนี้ ซึ่ง Lucid CEO เขาเคยเป็น เฮด เอ็นจิเนียริ่งของเทสล่ามาก่อน เรียกว่าเป็นคนสร้างเทสล่ารุ่นแรกขึ้นมา คือ เทสล่าโมเดลเอส แล้วเขาถูกซื้อตัวไป เขาก็แก้จุดอ่อนต่างๆ ที่เทสล่ามี ทำให้เป็นรถที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่รถยังไม่ถูกวางจำหน่าย ยังเป็นแค่เปเปอร์ อยู่ในช่วงพีอาร์ มาเก็ตติ้ง ซึ่งเราก็ต้องรอดูว่าหากรถออกมาจะสู้กับเทสล่าได้ในระดับไหน ส่วนเทสล่าเองเขาก็ไม่ได้หยุดพัฒนา กำลังมุ่งมั่นพัฒนาแบตเตอรี่ ให้อยู่ได้นาน 1,000 กิโลเมตร และชาร์จได้ไวขึ้น”



>>> ความมุ่งหวังต่อภาครัฐ

เมื่อถามถึงความสนับสนุนของภาครัฐต่ออีวีคาร์ จักรกฤติกล่าวว่า “จริง ๆ แล้วการใช้รถอีวี ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ ๆ ความพร้อมของประเทศเรารวมถึงนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลเรียกได้ว่ายังไม่ได้เต็มที่ 100%

อย่างแรกในเรื่องของภาษี ตอนนี้รถอีวีมีภาษีนำเข้าที่แพง แต่ก็มีสัญญาณที่ดี จากรัฐบาลรวมถึงภาครัฐและเอกชน สัญญาณที่ดีคือ PTTOR ประกาศออกมาแล้วว่าจะติดตั้งปั๊มชาร์จสำหรับรถไฟฟ้า ใน PTT หลายร้อยสถานีเลย เป็นแท่นชาร์จไฟฟ้า นอกจากนี้ยังเห็นข่าว 7-11 มีแผนจะติดตั้งแท่นชาร์จไฟฟ้าที่หน้าเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นจำนวนหลายร้อยสาขาเหมือนกัน เรียกว่ายักษ์ใหญ่ของประเทศออกมาเคลื่อนไหว เพียงแต่ยังเป็นแค่โครงการอยู่ รวมถึง ช่วงมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา หลังมอเตอร์โชว์ ภาครัฐก็ออกมาประกาศว่าพร้อมผลักดันผู้ประกอบการด้านอีวีเต็มที่ อะไรรัฐช่วยได้พร้อมช่วย รวมถึงการพีอาร์ว่าเทรนด์ของโลกเป็นอย่างไร อีวีส่งผลต่อโลกและประเทศชาติอย่างไร ตามห้างหรือโรงแรม ตามปั๊มน้ำมันหัวเมือง เริ่มมีแท่นชาร์จแล้ว ถ้าคุณไปต่างจังหวัด คุณ เสิร์ชกูเกิลหาได้เลยว่ามีแท่นชาร์จที่ไหนบ้าง มีหน่วยงานหลายหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้

“แต่จะไม่เหมือนกับการใช้น้ำมัน การใช้รถไฟฟ้าต้องมีแผนการเดินทาง กลับไปบ้านทุกวันคุณต้องชาร์จ คุณจะเดินทางไปต่างจังหวัด คุณต้องวางแผน ศึกษาไว้ก่อนว่าระหว่างทางจะไปเติมที่ไหน ควรไปพักโรงแรมไหนที่มีแท่นชาร์จไหมเพื่อความสะดวกสบาย ถ้าหากเราต้องไปค้างคืนหลายคืน หรือต้องเดินทางข้ามจังหวัด ต้องมีการวางแผน แต่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้มันจะสะดวกสบายมากขึ้น เพราะทุกภาคส่วน ทุ่มทุนกัน ระดมทุนกันติดตั้งแท่นชาร์จ ปีหน้า จะเป็นปีที่คุณจะเห็นแท่นชาร์จอีวีคาร์แบบเยอะมากๆ จากสถานที่หนึ่งเคยมี 2 แท่น อาจเพิ่มเป็น 4-5 แท่น”


Pจักรกฤติระบุ ก่อนฝากทิ้งท้ายถึงรัฐบาลในเรื่องของภาษีว่า

“ประการแรก มองว่ารัฐบาลยังไม่เข้าใจเรื่องของภาษีสักเท่าไหร่ จริงๆ อีวีคาร์เป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาดและไม่ใช่เครื่องยนต์ แต่เป็นมอเตอร์ เพราะฉนั้น cc ในการคำนวณเครื่องยนต์ต้องเป็นอีกสูตรการคำนวณหนึ่งแล้ว แต่รัฐก็ยังเลือกเก็บภาษีในแบบที่อยากจะเก็บ ในอุตสาหกรรม Sector นี้ เป็นหลักหมื่นล้าน แล้วถ้าวันหนึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหมด ภาษีที่จะเก็บตรงนี้ก็หายไป ทางรัฐก็อาจจะแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ ปรับเป็นขั้นบันไดลงไป เพื่อไม่ให้ภาษีตรงนี้หายไป

“ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาและเข้าใจว่า ถ้าภาษียังแพงอยู่ ประเทศเราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังมาก ที่ยังใช้รถยนต์สันดาปกันเต็มถนน แล้วอีวีคาร์เป็นแค่ส่วนน้อย ขณะที่ประเทศอื่น เขาไม่มีภาษีกัน ถึงมีก็น้อยมาก ราคาที่อเมริกา ยุโรป ขายเท่าไหร่ ประเทศในเอเชีย อาจจะแพงขึ้นมา 20% ขณะที่ของเรายังแพง 200-300% อยู่ รถเราแพงมาก ภาษีเราแพงมาก จริงอยู่ อาจจะไม่ต้องลดลงไปจนเหลือ 0 แต่มันควรจะต้องมี discount อะไรบางอย่างไหม ที่ประชาชนเห็นแล้ว ใช้อีวีคาร์แล้วมี benefit แลกมากับเทคโนโลยีที่ดีกว่า แรงม้าที่ดีกว่า นอกจากรักษ์โลก รักษ์พลังงานสะอาด

“เรื่องที่สอง อาจจะมีการจัดตั้งกองทุนอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วกองทุนนี้ cashback เงินกลับไปหาคนที่ซื้อรถไฟฟ้า เช่น คุณซื้อ 2-3 ล้านบาท แล้วคุณทำเรื่องเข้ามาหาทางภาครัฐ แล้วทางรัฐคืนกลับไปให้ 2-3 แสน มันก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจอย่างมาก เหมือนนโยบายรถคันแรก

“ผมมองว่าประเทศเรา ภาษีแพงมาก แล้วเงินในคลังมหาศาลมาก เราสามารถพัฒนาประเทศเราได้มากกว่านี้ ถ้านำภาษีของประชาชนมาใช้มีคุณค่า ผลักดันเรื่องนี้ รวมถึงเทคโนโลยี สตาร์ท อัพ เพราะสัมพันธ์กับ อีวีคาร์ ถ้ารัฐบาลสนับสนุน มีกองทุนสำหรับสตาร์ทอัพ วันหนึ่งเราอาจเห็นอีวีคาร์ที่เป็นแบรนด์ไทยก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม แม้แต่เวียดนามก็มีแบรนด์อีวีคาร์ของตัวเอง และหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มมีแบรนด์อีวีคาร์ของตัวเองแล้ว” จักรกฤติกล่าวทิ้งท้ายถึงความมุ่งหวังและสิ่งที่อยากเห็นในวงการยนตรกรรมของไทยในอนาคต

.......
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by พลภัทร วรรณดี
กำลังโหลดความคิดเห็น