ทีดีอาร์ไอชี้ประมูล'3G'ควรเดินหน้า

ทีดีอาร์ไอชี้ประมูล'3G'ควรเดินหน้า แต่ถาม กสทช. จะรับผิดชอบอย่างไร หากการประมูลทำให้ประชาชนเสียประโยชน์เป็นหมื่นล้าน 'วีรพัฒน์ ปริยวงศ์' นักกฎหมายอิสระ เชื่อไม่น่าจะนำไปสู่การระงับการประมูลได้

              8ต.ค.2555 นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ฟ้องร้องศาลปกครองสั่งให้ กสทช. ระงับการประมูล 3G  ว่า  ไม่น่าจะมีเหตุผลที่เพียงพอในการฟ้องร้องให้ระงับการประมูล 3G ออกไปอีก เพราะประเด็นต่างๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมา สามารถใช้เครื่องมือในการกำกับดูแลต่างๆ ของ กสทช. ที่มีอยู่ เช่น การกำกับดูแลค่าบริการ และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการ ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ การชะลอการประมูล 3G ออกไปจะทำให้ประเทศไทยมีบริการ 3G ใช้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นต่อไปอีก

              จริงอยู่ การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล 3G ของ กสทช. ครั้งนี้ เป็นการเอื้อให้ผู้ให้บริการทั้งสามราย สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงื่อนไขของการประมูลแทบจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเลย เหมือนจัดคน 3 คนมาเล่นเก้าอี้ดนตรี 3 ตัว ทั้งนี้ หากผลการประมูลได้ราคาใกล้เคียงกับราคาประมูลตั้งต้น รัฐและประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ก็จะเสียหายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดจากราคาประเมินของ กสทช. เอง ส่วนประชาชนในฐานะผู้บริโภคนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากราคาค่าประมูลอยู่แล้ว เพราะค่าประมูลเป็นส่วนที่ไปหักมาจากกำไรของผู้ประกอบการ ต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่นความถี่ไปฟรี ก็ยังจะคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในอัตราที่ทำกำไรสูงสุดนั่นเอง

              วิธีเดียวที่จะทำให้การประมูลได้ราคาสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็คือ กสทช. ต้องไปอ้อนวอนขอร้องผู้เข้าประมูลให้ประมูลสูงขึ้นบ้าง เพื่อไม่ให้ผลการประมูลออกมาน่าเกลียด จนประจานตัวเองมากเกินไป

              เป็นเรื่องแปลกมาก ที่ผู้ประกอบการต่างพูดว่าพร้อมจะจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่สูงกว่า ที่กสทช. กำหนด เช่น มีรายหนึ่งบอกว่าพร้อมจะจ่าย 1.5 - 2.0 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช. กลับไม่ต้องการให้มีการแข่งขันในการประมูล ดูเหมือนจงใจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ

              “โดยสรุป ผมเห็นว่า การประมูลควรจะเดินหน้าต่อไป แต่ผมขอถามว่า กสทช. จะรับผิดชอบอย่างไร หากผลการประมูลออกมาอย่างที่คาด คือทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นหมื่นล้านบาท?” ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าว

กสทช.ยัน"3จี"ไม่ล่มเดินแผนเปิดประมูล

 
              ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่า การประมูล 3จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ยังคงเดินหน้าตามกำหนดเดิมที่จะเปิดประมูลวันที่ 16 ตุลาคมนี้ แม้จะมีนักวิชาการอิสระเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน กสทช.มั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก

              นายฐากรยังกล่าวถึงการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า ผลการทดสอบเมื่อเทียบกับมาตรฐานกลางของ กสทช.ถือว่าผ่านเกณฑ์ แต่ได้ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบคุณภาพให้ทุกค่ายนำไปปรับปรุง เพราะยังมีปัญหาคุณภาพบริการ  

 

นักกฎหมายอิสระเชื่อล้มประมูลไม่ได้

              ขณะที่นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้เขียนบทความเรื่อง "ฟ้อง‘ศาลปกครอง’ล้มประมูล 3G  ?" โดยเห็นว่า  "การฟ้องดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่การระงับการประมูล 3G  โดยเหตุผลต่อไปนี้

              1. การจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น “ผู้มีสิทธิฟ้องคดี” ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย “โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” อีกทั้งยังต้องได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมายกำหนดไปก่อนแล้ว ดังนั้น หากผู้ใดฟ้องคดีอย่างกว้างๆ โดยคาดคะเนถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ศาลอาจมองว่าผู้นั้น “ไม่มีสิทธิฟ้องคดี”

              2. แม้สมมติว่า “มีสิทธิฟ้อง” แต่เหตุผลที่จะนำไปฟ้องนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่า กสทช. ได้ “ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ” ซึ่งย่อมเป็นคนละประเด็นกับ “การจัดการประมูล” กล่าวคือ การฟ้องว่า กสทช. กำหนดกฎระเบียบไม่ครบถ้วน ย่อมเป็นคนละประเด็นกับการฟ้องว่า การประมูลจัดขึ้นโดยผิดกฎหมาย ดังนั้น การจะขอให้ศาลสั่งระงับการประมูล ก็อาจเป็นคำขอที่ไม่ตรงประเด็น

              3. ที่สำคัญ เนื้อหาสาระที่ฟ้อง ก็ฟังดูขาดน้ำหนัก เพราะหากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น “ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ ย่าน 2.1 GHz” จะเห็นว่า กสทช. เอง ก็มีข้อกำหนดเพื่อกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว เช่น ข้อ 16 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้โครงข่ายรองรับความเร็วได้ตามมาตรฐานและคุณภาพ ต้องสนับสนุนการอำนวยความสะดวกต่อผู้มีรายได้น้อย คนพิการ อีกทั้งต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

              ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ กสทช. ต้องกำหนดในรายละเอียดนั้น บางส่วน กสทช. ได้กำหนดไว้แล้ว แต่บางส่วน ก็ไม่อาจกำหนดล่วงหน้าเร็วเกินไป เช่น เรื่อง ราคาหรืออัตราขั้นสูงของค่าบริการ ซึ่ง กสทช. ย่อมต้องกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น สภาพตลาด ต้นทุนจากการประมูล ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและขยายโครงข่าย ฯลฯ ซึ่ง กสทช. อาจกำหนดขึ้นหลังการประมูลเพื่อให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ก็เป็นได้

              ส่วนประเด็นเรื่องการนำรายได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้บัญญัติไว้แล้ว เช่น มาตรา 50 ที่กำหนดให้ กสทช. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปจัดการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานโดยทั่วถึง หรือ มาตรา 65 ที่กำหนดเกี่ยวกับการนำรายได้ต่างๆ ของ กสทช. มาจัดสรรเพื่อสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ หรือ กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ เป็นต้น การจะมองเฉพาะเงินประมูลส่วนเดียว ย่อมเป็นการมองที่แคบเกินไป

              ที่สำคัญ เมื่อสุดท้ายมีการนำเงินประมูลที่เหลือส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ก็ย่อมเป็นความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะนำรายได้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้ กสทช. ซึ่งเป็นเพียงองค์กรกำกับดูแลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเสียเอง และหากจะให้องค์กรตุลาการเข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารรายได้แผ่นดิน ก็ยิ่งเป็นการไม่สมควรขึ้นไปอีก"